เชิญชม

วันพุธที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2553

ประวัติอำเภอต่างๆในจังหวัดราชบุีรี

อำเภอเมือง


อำเภอเมืองอำเภอเมืองเรืองราชบุรี เดิมเป็นที่ตั้งเมืองเรียกว่า " เมืองราชบุรี " มีฐานะเป็น มณฑลราชบุรี อันเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักร " ทวาราวดี " ของชนชาติลาว เล่ากันว่า เมืองราชบุรีนี้ ตัวเมืองเดิมตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านไร่ (เดิมชื่อตำบลอู่เรือ ) อำเภอเมืองราชบุรี ในปัจจุบัน ต่อมาเมืองราชบุรี ได้ร้างไปประมาณ 300 - 400 ปี ภายหลังพระเจ้าอู่ทอง ได้สร้างเมืองราชบุรีขึ้นใหม่ทีวัดมหาธาตุวรวิหาร ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของศาลากลางจังหวัดหลังเก่า ฝั่งขวาของแม่น้ำแม่กลอง ต่อมา เมื่อ พ.ศ. 2360 ( ร.ศ. 36 ) ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงโปรดเกล้าให้ย้ายเมืองราชบุรี มาตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำแม่กลอง คือที่ตั้งจังหวัดทหารบกราชบุรี ครั้นปี พ.ศ. 2440 (ร.ศ. 116 ) ได้เริ่มจัดระเบียบการปกครองท้องที่ ในครั้งนั้น ได้แบ่งการปกครองท้องที่ออกเป็น 5 อำเภอ เฉพาะอำเภอเมืองราชบุรี เดิมตั้งอยู่ที่ตำบลธรรมเสน อำเภอโพธาราม ในครั้งนั้น จึงเรียกว่า " แขวง" ต่อมา พ.ศ. 2441 จึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอจากตำบลธรรมเสนมาตั้งที่ถนนอัมรินทร์ ตำบลหน้าเมือง มีพระแสนท้องฟ้า ( ป๋อง ยมคุปต์ ) เป็นนายอำเภอ ครั้นต่อมาบริเวณที่ที่ว่าการอำเภอเมืองราชบุรี ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเป็นศูนย์การค้า จึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอเมืองราชบุรี ไปปลูกสร้างใหม่ณ บริเวณที่มีโครงการจัดตั้ง เป็นศูนย์ราชการปัจจุบัน


อาณาเขต

ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอโพธารามและอำเภอบางแพ

ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอวัดเพลงและอำเภอปากท่อ

ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอดำเนินสะดวกจังหวัดราชบุรี และอำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม

ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอจอมบึงและอำเภอปากท่อ

พื้นที่ อำเภอเมืองราชบุรี มีเนื้อที่ประมาณ 454.239 ตารางกิโลเมตร


*******************************


อำเภอบางแพ



ที่ได้ชื่อว่า " บางแพ " ได้ความว่า เมื่อสมัยก่อนท้องที่อำเภอนี้เป็นที่ลุ่มจดชายทะเลเต็มไปด้วยป่าพง ป่ากก มีผู้คนอาศัยน้อย ถึงฤดูน้ำจะมีผู้คนพากันขึ้นไปตัดไม้ทางป่า ผูกเป็นแพล่องลงมาตามลำน้ำไป ขายทางชายทะเล การเดินทางจะต้องนำแพไม้มาจอดพัก ค้างแรมที่บ้านบางแพนี้ เมื่อมีผู้คนมาตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยน้อย จึงพากันเรียกที่แห่งนี้ว่า " บางแพ " เมื่อได้ตั้งที่ว่าการอำเภอขึ้นที่ตำบลบางแพจึงได้ชื่อว่า "อำเภอบางแพ" ตามสถานที่ตั้ง อำเภอบางแพตั้งขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2457 โดยแบ่งตำบลต่างๆ ของ อำเภอบ้านโป่ง อำเภอโพธาราม และอำเภอดำเนินสะดวก รวม 17 ตำบล จัดเป็นตำบลขึ้นใหม่แล้วยกฐานะเป็นอำเภอ ในปี พ.ศ. 2460 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาอยู่ที่บริเวณวัดหัวโพ ตำบลหัวโพ อาศัยศาลาการเปรียญซึ่งเป็น ศาลาดิน เป็นที่ตั้งที่ว่าการอำเภอชั่วคราว และได้เปลี่ยนเป็น " อำเภอหัวโพ " ครั้นในปี พ.ศ. 2461 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอจากตำบลหัวโพมาตั้งที่บ้านหมู่ที่ 5 ตำบลบางแพ อยู่ฝั่งตะวันออกของลำคลองบางแพ ณ ที่ดังกล่าวได้เปลี่ยนชื่ออำเภอเป็น " อำเภอบางแพ"


อาณาเขต

ทิศเหนือ ติดต่อกับตำบลสระกระเที่ยม ตำบลบางแขม อำเภอเมืองนครปฐม

ทิศใต้ ติดต่อกับตำบลบ้านไร่ ตำบลบัวงาน อำเภอดำเนินสะดวก

ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม และอำเภอเมืองบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร

ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี


ลักษณะภูมิประเทศ

เป็นที่ราบลุ่มทั่วไป ไม่มีป่าและเขา สภาพทั่วไปอากาศโปร่งเย็น มีความชุ่มชื่นพอสมควร ลำน้ำสำคัญที่เป็นประโยชน์ในด้านการเกษตร คือ ลำคลองบางแพ เริ่มต้นจาก ตำบลคลองตาคต อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ผ่านอำเภอบางแพ ในท้องที่ตำบลวังเย็น และในท้องที่ตำบลบางแพ เนื่องจากอำเภอ นี้เป็นที่ราบลุ่ม ทรัพยากรธรรมชาติจึงมีปลาและสัตว์น้ำตามแม่น้ำลำคลองพื้นที่ มีเนื้อที่รวมทั้งสิ้น 182 ตารางกิโลเมตร


***************************


อำเภอบ้านโป่ง


ตามจดหมายเหตุราชบุรี อำเภอบ้านโป่ง เดิมตั้งอยู่ที่ ตำบลท่าผา เรียกว่าอำเภอท่าผา ต่อมารัฐบาลได้สร้างทางรถไฟสายใต้ขึ้นและเห็นว่าถ้าหาก อำเภออยู่ที่ท่าผาแล้วการคมนาคมก็ไม่สู้สะดวก จึงให้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั้งที่ตำบลบ้านโป่ง เรียกว่า อำเภอบ้านโป่งสืบมาจนกระทั่งทุกวันนี้ บริเวณที่ตั้งอำเภอบ้านโป่งนี้ เดิมเป็นป่าโปร่งสัตว์ชอบมาอาศัย และกินดินโป่งเป็นอาหาร (ดินโป่งเป็นดินชนิดหนึ่งที่มีรสเค็ม) โดยเฉพาะสัตว์จำพวกเลียงผาชอบมาก ตามตำนานเก่าแก่เล่าว่าคำ " บ้านโป่ง" เดิมทีเดียวเรียกว่า

"บ้านทับโป่ง " ซึ่งเล่ากันว่ามีกระท่อมหรือบ้าน (ทับ) อยู่ข้างดินโป่ง แต่ชาวบ้านนิยมเรียก "บ้านโป่ง" เพราะสะดวกและสั้นดีและต่อมาทางราชการก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอบ้านโป่งตามไปด้วย อำเภอบ้านโป่ง เคยโอนไปอยู่กับจังหวัดกาญจนบุรีมาครั้งหนึ่งระหว่างสงครามมหาอาเซียบูรพา เมื่อ พ.ศ. 2484 และโอนกลับมาจังหวัดราชบุรีตามเดิม เมื่อพ.ศ. 2489 ที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอบ้านโป่ง ตั้งอยู่ที่ถนนทรงพล ตำบลบ้านโป่ง (ในเขตเทศบาลเมืองบ้านโป่ง) มีระยะทางห่างจากจังหวัด 42 กิโลเมตร มีทางหลวงแผ่นดิน ผ่าน 2 สาย ชื่อ ทางหลวงแผ่นดินสาย 4 ( เพชรเกษม) และมีทางรถไฟผ่าน 3 สาย คือ ทางรถไฟสายใต้ ทางรถไฟสายหนองปลาดุก - สุพรรณบุรี และทางรถไฟสายหนองปลาดุก - กาญจนบุรี แม่น้ำสำคัญผ่าน 1 สาย ชื่อ แม่น้ำแม่กลอง พื้นที่ 390 ตารางกิโลเมตร


อาณาเขต

ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอท่าม่วง อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี อำเภอกำแพงแสน

จังหวัดนครปฐม

ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี

ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม

ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรีลักษณะ
ภูมิประเทศ
เป็นที่ราบลุ่มโดยทั่วไปเป็นที่ทำนา ทำสวน ทำไร่ มีป่าและภูเขาในตำบลเขาขลุง ลำน้ำที่สำคัญ ลำน้ำที่เป็นประโยชน์ในด้านการเกษตร การคมนาคมและการบริโภค คือ แม่น้ำแม่กลอง เริ่มต้นจากแควใหญ่แควน้อย มาบรรจบกันที่ตัวจังหวัดกาญจนบุรี ไหลผ่านท้องที่อำเภอบ้านโป่งที่ตำบลลาดบัวขาว ตำบลท่าผา ตำบลเบิกไพร ตำบลบ้านโป่ง ตำบลปากแรต ตำบลคุ้งพยอม ตำบลสวนกล้วย ตำบลนครชุมน์ และตำบลบ้านม่วง มีระยะประมาณ 20 กิโลเมตร


*************************



อำเภอดำเนินสะดวก


ประวัติอำเภอดำเนินสะดวกเริ่มขึ้นก่อน พ.ศ. 2400 พื้นที่มีสภาพเป็นที่ราบลุ่มมีป่าดงไผ่และต้นเสือหมอบ เมื่อถึงฤดูน้ำหลากจะท่วมพื้นที่เกือบทั้งหมดของอำเภอสภาพท้องที่สมัยไม่มีลำคลองมากมายเช่นในปัจจุบัน ในสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่าเนื้อที่ดินในเขตอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี และอำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาครเป็นพื้นที่ดินราบลุ่มมีอาณาบริเวณหลายหมื่นไร่ หากให้ขุด คลองขึ้นโดยผ่านพื้นที่ทั้งสองอำเภอก็จะเกิดประโยชน์มากมาย แก่ราษฎรที่จะเข้ามาจับจองที่ดินประกอบการเกษตร ลำคลองนี้จะเป็นเส้นทางลำเลี่ยงสินค้าเข้าสู่ตัวเมืองหลวงได้สะดวกเป็นเส้นทางคมนาคมระหว่างกรุงเทพ กับจังหวัดราชบุรี การขุดคลองเริ่มต้นจากจุดริมแม่น้ำท่าจีน ตำบลบางยาง อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร เป็นเส้นตรง ผ่านตำบลโคกไผ่ ( ปัจจุบันคือตำบลดอนไผ่) และขุดผ่านเข้ามาในเขตอำเภอปากคลองแพงพวย ( อำเภอดำเนินสะดวกเดิม) จนถึงแม่น้ำแม่กลองที่ปากคลองบางนกแขวก คลองนี้ได้ทำการขุดสำเร็จเมื่อ พ.ศ. 2410 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร. 5) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทำพิธีเปิดใช้คลองเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2411 อำเภอดำเนินสะดวก ตั้งอยู่ที่ปากคลองลัดราชบุรีถึง พ.ศ.2455 ทางราชการจึงได้ย้ายไปตั้งอยู่ที่ตำบลรางยาวฝั่งตะวันออก เหตุที่ย้ายที่ว่าการอำเภอ เนื่องจากสถานที่เดิมคับแคบไม่เหมาะแก่การขยายสถานที่ราชการอำเภอดำเนินสะดวก เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดราชบุรี อยู่ทางทิศตะวันตกของตัวจังหวัด ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลดำเนินสะดวก มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 198.97 ตารางกิโลเมตร

อาณาเขต

ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี และอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี

ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอบางคนที และอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม

ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอบางแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร

ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม


*********************


อำเภอจอมบึง


ท้องที่จอมบึงมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้วเป็นเส้นทางผ่านเวลาทัพพม่าจะยกมาตีไทย พ.ศ. 2438 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประพาสจอมบึงกับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชนีนาถ พระพุทธเจ้าหลวงได้เสด็จไปชมบึงใหญ่ โดยเสด็จไปทางสายเก่าบ้านวังมะเดื่อ เจ้าหน้าที่ได้เปิดป่าพงหญ้าเป็นถนนไปสู่บึง พระองค์ทรงโปรดปรานในความงามของบึงมากทรงพระดำรัสช้าๆ ว่า "นี้หรือบึง สวยงามดี ต่อไปจะเจริญต่อไปนี้ให้เรียกว่า จอมบึง" ชาวบ้านจึงเรียกบึงใหญ่ว่าจอมบึงมาจนทุกวันนี้ การเสด็จประพาสจอมบึงครั้งนี้ พระพุทธเจ้าหลวงทรงมีพระราชดำริว่าท้องที่จอมบึงเป็นที่ราบ ประชาชนตั้งบ้านเรือนอยู่หนาแน่นแต่กันดาร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นเป็นกิ่งอำเภอจอมบึง

พ.ศ. 2501 กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศยกฐานะกิ่งอำเภอจบึงเป็นอำเภอจอมบึง อำเภอจอมบึงเป็นอำเภอหนึ่งในจำนวน 9 อำเภอของจังหวัดราชบุรี อยู่ห่างจากตัวจังหวัดไปทางทิศตะวันตกเป็นระยะทาง 30 กิโลเมตร โดยทางหลวงแผ่นดินสายราชบุรี - จอมบึง อำเภอจอมบึงมีพื้นที่มากเป็นอันดับสองของจังหวัด คือ มีพื้นที่ทั้งสิ้น 816 ตารางกิโลเมตร


อาณาเขต

ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี อำเภอท่าม่วงและอำเภอเมืองกาญจนบุรี

จังหวัดกาญจนบุรี

ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรีทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอเมืองราชบุรี

จังหวัดราชบุรี

ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี


ลักษณะภูมิประเทศ

ที่ราบลุ่มทุ่งนาและหนองน้ำ พบอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของตำบลปากช่อง ใจกลางของตำบลจอมบึง ตอนใต้ของตำบลเพิกไพร ตอนเหนือ ของตำบลรางบัวและทางตอนกลางด้านทิศตะวันออกของตำบลด่านทับตะโก พื้นที่เหล่านี้ส่วนใหญ่ใช้ปลูกข้าว พื้นที่เป็นที่ดินทรายและดินลูกรัง พบในด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือและทิศตะวันตกของตำบลปากช่อง ด้านเหนือและด้านตะวันออกของตำบลจอมบึง ตามแนวกลางจากด้านทิศตะวันออกโค้งไปถึงด้านตะวันตกของตำบลรางบัว พื้นที่เหล่านี้ส่วนใหญ่จะใช้ปลูกมันสำปะหลัง พื้นที่ดินร่วนปนทรายและดินดำ พบในด้านทิศใต้ของตำบลปากช่อง สองฝั่งลำน้ำภาชีในตำบลด่านทับตะโกและตำบลแก้มอ้น พื้นที่เหล่านี้ส่วนใหญ่ใช้ปลูกอ้อย พืชไร่ และพืชผักสวนครัว โดยเฉพาะตำบลด่านทับตะโกและตำบลแก้มอ้น จะปลูกพืชผักสวนครัวและพืชไร่มากที่สุดในอำเภอพื่นที่ภูเขา พบมากในตอนใต้ของตำบลรางบัว ด้านทิศตะวันตกของตำบลด่านทับตะโกและตำบลแก้มอ้น ตามแนวเส้นแบ่งเขตตำบลและอำเภอ และยังพบภูเขาขนาดเล็กอยู่ในทุกพื้นที่ของตำบลอื่นๆ ด้วย พื้นที่เหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นป่าไม้


**********************


อำเภอปากท่อ



ประวัติมีว่า พื้นที่ทั่วๆ ไปของอำเภอนี้ราบส่วนมาก และมีพื้นที่แห่งหนึ่งเป็นที่ต่ำกว่าที่อื่น พื้นที่แห่งนั้นเรียกว่า " หนองทะเล" ในฤดูฝนน้ำฝนจากตำบลต่างๆ จะไหลมารวมกันที่หนองทะเลเพียงแห่งเดียว และทางทิศตะวันออกของหนองทะเลเป็นที่ต่ำกว่าทุกทิศน้ำที่ไหลมารวมกันอยู่นั้น จะไหลไปทางไหนไม่ได้ มีช่องทางน้ำไหลได้เพียงทางเดียวเวลาน้ำไหลออกจากหนองทะเลจะเชี่ยวมาก คล้ายน้ำไหลออกจากท่อเลยทำให้ราษฎรขนานนามพื้นที่หนองทะเลใหม่ว่า " ปากท่อ" ซึ่งเป็นตำบลและที่ตั้งที่ว่าการอำเภออยู่มาจนถึงปัจจุบัน ตำบลปากท่อ เดิมขึ้นอยู่กับอำเภอเมืองราชบุรี ต่อมาเมื่อ ร.ศ. 118 ได้ตั้งที่ว่าการอำเภอขึ้นแห่งหนึ่ง คือ ที่ว่าการอำเภอท่านัด-วัดประดู่ ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลจอมประทัด ตำบลปากท่อจึงได้โอนไปขึ้นกับอำเภอท่านัดวัดประดู่ แต่การไปมาติดต่อของราษฎรไม่สะดวก เพราะที่ว่าการอำเภอดังกล่าว ตั้งอยู่ริมคลอง ไม่มีถนน จึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอไปตั้งที่ตำบลวัดเพลง เรียกว่า ที่ว่าการอำเภอแม่น้ำอ้อมจนเมื่อง

พ.ศ. 2460 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอแม่น้ำอ้อม มาตั้งที่ตำบลปากท่อ


อาณาเขต

ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี และอำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี

ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี

ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม

ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอสวนผึ้ง อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี


ลักษณะภูมิประเทศ

ที่ราบลุ่ม ได้แก่พื้นที่ตำบลวัดยางงาม ตำบลวันดาว มีพื้นที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเพาะปลูก มีลำคลองเชื่อมหลายสาย เช่นคลองวัดประดู่ คลองปากท่อที่ราบตอนกลาง ได้แก่พื้นที่ตำบลบ่อกระดาน ตำบลป่าไก่ ตำบลปากท่อ พื้นที่เป็นนาอาศัยน้ำฝน และจากคลองพระราชทานที่ขุดขนานกับทางรถไฟสายใต้ และคลองแสวงจันทร์รำลึก


ที่ราบสูง ได้แก่ตำบลหนองกระทุ่ม ตำบลดอนทราย ตำบลวังมะนาว ตำบลทุ่งหลวง ตำบลอ่างหิน ซึ่งบางแห่งเป็นที่ราบ บางแห่งเป็นเขามีการทำนา ทำไร่ตามสภาพที่ป่าและเขา ได้แก่ตำบลยางหัก ที่ส่วนใหญ่เป็นป่าและเขามีที่ราบน้อยมากประชาชนที่อาศัยอยู่ในตำบลนี้ ส่วนใหญ่ เป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง และมีราษฎรจากท้องถิ่นอื่นเข้าไปหักร้างถางป่า จับจองที่ทำกินอยู่มาก


********************


อำเภอวัดเพลง


อำเภอวัดเพลง ปัจจุบันอยู่ฝั่งขวาของลำแม่น้ำ แควอ้อม ซึ่งเป็นสายน้ำแยกแม่น้ำแม่กลองที่ตำบลบ้านไร่ อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี และไปบรรจบกับแม่น้ำแม่กลองอีกที่ตำบลแควอ้อม อำเภออัมพวา อำเภอวัดเพลง มีประวัติความเป็นมาดังนี้ เมื่อตั้งขึ้นครั้งแรกชื่ออำเภอวัดประดู่ เพราะสถานที่ตั้งที่ว่าการอำเภอครั้งแรก อยู่ริมคลองวัดประดู่ บริเวณหน้าวัดประดู่ อ้อมตำบลจอมประทัดขณะนี้ การปกครอง การไปติดต่อกับจ้งหวัดราชบุรี ซึ่งในฤดูแล้งน้ำลดมากก็เป็นอุปสรรคในการเดินทาง จึงอนุญาตกระทรวงมหาดไทยย้ายอำเภอแม่น้ำปตั้งใหม่ ณ ตำบลปากท่อ ริมสถานีรถไฟ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอปากท่อ เมื่ออำเภอแม่น้ำอ้อมได้ถูกโอนไปตั้งเป็น อำเภอปากท่อ แล้ว ทางราชการคงให้สถานีตำรวจภูธรอยู่ตามเดิมมิได้ย้ายไปด้วย เพราะเกรงว่าเหตุการณ์โจรผู้ร้ายจะกำเริบขึ้นและทางราชการก็เห็นสมควรให้ตั้งกิ่งอำเภอขึ้นแทน โดยตั้งชื่อว่ากิ่งอำเภอวัดเพลง มีอาณาเขต 3 ตำบล คือ ตำบลวัดเพลง ตำบลเกาะศาลพระ ตำบลจอมประทัด และได้ยกฐานะเป็นอำเภอวัดเพลง เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2516 อำเภอวัดเพลง อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดราชบุรี มีอาณาเขตตามแม่น้ำแควอ้อมฝั่งขวา อำเภอวัดเพลง มีเนื้อที่ 40 ตารางกิโลเมตร


อาณาเขต

ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอบ้านไร่ อำเภอเมืองราชบุรี

ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี

ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอบางคนที่ จังหวัดสมุทรสงคราม อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี

ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอเมือง อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี


ลักษณะภูมิประเทศ

สภาพท้องที่เป็นที่ราบลุ่ม ที่ดอนมีเล็กน้อยอยู่ทางด้านทิศตะวันตก พื้นที่ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับจังหวัดราชบุรี มีนายอำเภอคนแรก คือ พระสุนทรบริรักษ์


*************************



อำเภอโพธาราม



ตำบลโพธาราม เล่ากันว่า เมื่อสมัยก่อนประชาชนเรียกว่า " บ้านโพธิ์ตาดำ " การที่ได้รับนามว่า "บ้านโพธิ์ตาดำ " เพราะมีต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ขึ้นอยู่เป็นหมู่ และใกล้หมู่ต้นโพธิ์บ้านของนายดำ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีตั้งอยู่ด้วยเลยเรียกกันติดปากว่า " บ้านโพธิ์ตาดำ " โดยสำเนียงของชาวจีนมักเรียกถิ่นนี้ว่า " พอไจ่ล้ำ" และชาวมอญเรียกว่า " โพธาราม " ต่อมาเมื่อสมัยจังหวัดราชบุรียังมีฐานะการปกครองแบบมณฑล พระภักดีดินแดน ( พลอย วงศาโรจน์) ปลัดมณฑลราชบุรี ได้ดำเนินการปรับปรุงเขตและนามตำบลโดยเห็นว่าถิ่นนี้ มีต้นโพธิ์ และมีวัด (อาราม) ทางราชการจึงตั้งนามว่า " ตำบลโพธาราม " โพธาราม เดิมตั้งอยู่ที่ปากคลองบางโตนด ตำบลบางโตนด ฝั่งตะวันตก แม่น้ำแม่กลอง เรียกชื่อว่า แขวง ขึ้นอยู่กับจังหวัดราชบุรี ยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อใดไม่ปรากฎหลักฐาน ต่อมา พ.ศ. 2436 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอจากปากคลองบางโตนด มาตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลองฟากตะวันออกเยื้องกับวัดเฉลิมอาสน์ ที่ตำบลโพธาราม ต่อมาได้ย้ายที่ว่าการอำเภอจากริมฝั่งแม่น้ำมาอยู่ที่บริเวณที่ตั้งปัจจุบัน เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2495 ที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอ ตั้งอยู่ถนนหน้าอำเภอ ตำบลโพธาราม ในเขตเทศบาลเมืองโพธาราม อยู่ห่างจากสถานีรถไฟโพธาราม ประมาณ 400 เมตร ห่างจากทาง หลวงแผ่นดินสายเพชรเกษม (สายเก่า) ประมาณ 1.5 กิโลเมตร พื้นที่ มีเนื้อที่รวมทั้งสิ้น 394 ตารางกิโลเมตร



อาณาเขต

ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี และอำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี

ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอเมื่องราชบุรี และอำเภอดำเนินสะดวก

ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี และอำเภอเมืองนครปฐม

ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี



ลักษณะภูมิประเทศ

ด้านทิศตะวันออกและตอนกลางของพื้นที่อำเภอ เป็นที่ราบลุ่ม พื้นที่ด้านทิศตะวันตกและตะวันตกเฉียงใต้ เป็นที่ราบ สูงมีภูเขาและเนินเขาอยู่ทั่วไปพื้นที่ที่เป็นเนินเขา ประมาณ 6.60 ตารางกิโลเมตร มีป่าไม้เบญจพรรณอยู่บ้างประปราย ลำน้ำทีสำคัญ มีแม่น้ำแม่กลองไหลผ่าน ต้นน้ำอยู่ในจังหวัดกาญจนบุรี ไหลผ่านท้องที่อำเภอโพธาราม ในตำบลชำแระ สร้อยฟ้า คลองตาคต โพธาราม ท่าชุมพล บางโตนด คลองข่อย และเจ็ดเสมียนผ่านอำเภอเมืองราชบุรี ลงสู่ทะเลที่จังหวัดสมุทรสงคราม



*********************



อำเภอสวนผึ้ง


อำเภอสวนผึ้งเดิมเป็นตำบลสวนผึ้งขึ้นอยู่กับอำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ได้อนุมัติให้ตั้งกิ่งอำเภอสวนผึ้งขึ้นเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2517 เปิดทำการบริการประชาชน เมื่อวันที่ 15 พฤศิกายน 2517 มีเขตการปกครอง 5 ตำบล คือ ตำบลสวนผึ้ง ตำบลป่าหวาย ตำบลบ้านบึง ตำบลท่าเคย และตำบลบ้านคา สภาพท้องถิ่นทุรกันดาร ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นป่าไม้ มีภูเขาสลับซับซ้อนอยู่ทั่วไป ระยะทางจกาอำเภอจอมบึง 30 ก.ม. ห่างจากตัวจังหวัดราชบุรี 60 กิโลเมตร และได้ประกาศตั้งเป็นอำเภอเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2525 อำเภอสวนผึ้ง ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลสวนผึ้ง ริมฝั่งซ้ายของลำน้ำภาชีอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของอำเภอจอมบึงและจังหวัดราชบุรี มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 2,145 ตารางกิโลเมตร


อาณาเขต

ทิศเหนือ ติดต่ออำเภอเมืองกาญจนบุรี

ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี

ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี

ทิศตะวันตก ติดต่อกับสาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพพม่า


ลักษณะภูมิประเทศ
อำเภอสวนผึ้ง มีสภาพเป็นที่ป่าและภูเขา มีที่ราบตามไหล่เขาและที่ราบตอนกลางของพื้นที่ใช้สำหรับการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์บ้างเล็กน้อย

*********************


อำเภอบ้านคา



อำเภอบ้านคา เดิมอยู่ในเขตปกครองของอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี แต่เนื่องจากอำเภอสวนผึ้งมีอาณาเขตกว้างขวางและประชากรมาก ท้องที่บางตำบล อยู่ห่างไกลตัวอำเภอ ทำให้เจ้าหน้าที่ออกตรวจตราดูแลทุกข์สุขของราษฎรได้ไม่ทั่วถึง และสภาพท้องที่โดยทั่วๆ ไปมีแนวโน้มว่าจะมีความเจริญขยายตัวมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ กระทรวงมหาดไทยจึงได้แบ่งท้องที่อำเภอสวนผึ้งตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เรียกว่า "กิ่งอำเภอบ้านคา" ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2540 เป็นต้นมา และต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกายกฐานะขึ้นเป็นอำเภอ ในวันที่ 24 สิงหาคม 2550 มีเขตการปกครองแบ่งออกเป็น 3 ตำบล คือ ตำบลบ้านคา ตำบลบ้านบึง และตำบลหนองพันจันทร์ มีหมู่บ้านรวม 34 หมู่บ้าน


ที่ตั้งและอาณาเขต

ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอสวนผึ้ง
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอจอมบึงและอำเภอปากท่อ
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอหนองหญ้าปล้อง (จังหวัดเพชรบุรี)
ทิศตะวันตก ติดต่อกับเขตตะนาวศรี (สหภาพพม่า)


ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ

1. ภูเขาต่างๆ และเทือกเขาตะนาวศรี

2. น้ำตกซับเตย และน้ำตกห้วยสวนพลู

3. ป่าไม้ด้านทิศใต้และตะวันออกของกิ่งอำเภอ

4. ลำห้วยท่าเคย, มะหาด, พุบอน, กระชาย, หนองน้ำขุ่น และลำห้วยสาขาต่างๆ

ที่เกิดจากเทือกเขา ตะนาวศรี

5. บ่อน้ำพุร้อนที่บ้านน้ำพุร้อน หมู่ที่ 4 ต.บ้านบึง6. แร่ธาตุต่างๆ เช่น เฟลสปาร์ เป็นต้น


ลักษณะภูมิอากาศ
โดยทั่วไป ฤดูหนาวอากาศหนาวถึงหนาวจัด ฤดูร้อนอากาศเย็นสบายพื้นที่ มีเนื้อที่รวมทั้งสิ้น 1,026 ตารางกิโลเมตร

จังหวัดราชบุรี


ประวัติจังหวัดราชบุรี
จังหวัดราชบุรีมีชื่ออันเป็นมงคลยิ่ง หมายถึง " เมืองพระราชา" ราชบุรีเป็นเมืองเก่าแก่ เมืองหนึ่งของประเทศไทย จากการศึกษา และขุดค้นของ นักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี พบว่าดินแดนแถบลุ่ม แม่น้ำแม่กลองแห่งนี้เป็น ถิ่นฐานที่อยู่อาศัยของคนหลายยุคหลายสมัย และมีความรุ่งเรืองมาตั้งแต่อดีต จากหลักฐานทางโบราณสถานและโบราณวัตถุมาก ทำให้เชื่อได้ว่ามีผู้คนตั้งถิ่นฐานอยู่ ใน บริเวณนี้ตั้งแต่ยุคหินกลาง ตลอดจนได้ค้นพบเมืองโบราณสมัยทราวดีที่ตำบลคูบัว อำเภอเมืองราชบุรี
พระบาทสมเด็จพระยุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ได้เคยดำรงตำแหน่งหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรีในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตอนปลาย ซึ่งในช่วงปลายสมัย กรุงศรีอยุธยาและตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ปรากฎหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า เมืองราชบุรีเป็นเมือง หน้าด่านที่สำคัญ และ เป็นสมรภูมิการรบหลายสมัย โดยเฉพาะในสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ยกทัพมาตั้งรับศึกพม่าในเขต ราชบุรีหลายครั้ง ครั้งสำคัญที่สุดคือสงครามเก้าทัพ ต่อมา พ.ศ. 2360 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างกำแพงเมืองใหม่ทาง ฝั่งซ้ายของแม่น้ำแม่กลองตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวใน
พ.ศ. 2437 ได้ทรงเปลี่ยนการปกครองส่วนภูมิภาคโดยรวมหัวเมืองต่างๆ ที่อยู่ใกล้ชิดกัน ตั้งขึ้นเป็นมณฑล และได้รวมเมืองราชบุรี เมืองกาญจนบุรี เมือง สมุทรสงคราม เมืองเพชรบุรี เมืองปราณบุรี เมืองประจวบคีรีขันธ์ รวม 6 เมือง ตั้งขึ้นเป็นมณฑลราชบุรี ตั้งที่บัญชาการมณฑล ณ ที่เมืองราชบุรี ทางฝั่งขวาของแม่น้ำแม่กลอง (ปัจจุบันคือศาลากลางจังหวัดราชบุรีหลังเก่า) ต่อมาใน พ.ศ. 2440 ได้ย้ายที่บัญชาการเมืองราชบุรี จากฝั่งซ้าย กลับมาตั้งรวมอยู่แห่งเดียวกับศาลาว่าการมณฑลราชุบรี ทางฝั่งขวาของแม่น้ำแม่กลอง จนถึง พ.ศ. 2476 เมื่อได้มีการยกเลิกการปกครองแบบมณฑลทั้งหมด มณฑลราชบุรีจึงถูกยกเลิกและคงฐานะเป็นจังหวัดราชุบรีจนถึงปัจจุบัน